ศิษยานุศิษย์เศร้า สิ้น “พระอาจารย์สมชาย วัดโพรงอากาศ”
ศิษยานุศิษย์เศร้า สิ้น “พระอาจารย์สมชาย วัดโพรงอากาศ”
ศิษยานุศิษย์เศร้า สิ้น “พระอาจารย์สมชาย” เกจิดังเมืองแปดริ้ว เจ้าอาวาสวัดโพรงอากาศ รวมสิริอายุ 79 ปี 59 พรรษา
(22 ม.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานการสูญเสียเกจิดังแห่งเมืองแปดริ้ว เจ้าอธิการสมชาย พุทฺธสโร เกจิแห่งวัดโพรงอากาศ เจ้าอาวาสวัดโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้มรณภาพลง ในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 เวลา 02.30 น. สิริอายุ 79 ปี 59 พรรษา
ทางด้านลูกศิษย์ได้กล่าวว่า หลวงพ่อสมชายได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร เมื่อวันที่ 14 - 16 มกราคม 2568 จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อ.บางปะกง และได้เดินทางกลับมารักษาตัวต่อที่วัดโพรงอากาศในวันที่ 17 มกราคม 68 เป็นต้นมา
จนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 68 เวลา 14.00 น. หลังพ่อได้มีอาการวูบไปจึงได้ทำการส่งไปยังโรงยาบาลบางน้ำเปรี้ยว และทำการปั้มหัวใจ พร้อมส่งตัวต่อมารักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร จากอาการแน่นหน้าอก ซึ่งทางทีมแพทย์ได้เฝ้าถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด ต่อมาเมื่อเวลา 02.30 น. ของวันที่ 22 มกราคม 2568 หลวงพ่อสมชาย ได้มรณภาพจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
สำหรับสังขารของหลวงพ่อสมชายนั้น จะนำไว้ ณ ศาลาใหญ่ วัดโพรงอากาศ ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉเะชิงเทรา เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ ได้เข้าเคารพสักการะต่อไป
ประวัติโดยย่อ
"หลวงพ่อสมชาย พุทธสโร" วัดโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พระดีเกจิดังแห่งเมืองแปดริ้ว ศิษย์เอกที่สืบทอดวิทยาคมของหลวงพ่อแจ๋ วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ ซึ่งเป็นศิษย์พุทธาคมของหลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) กรุงเทพฯ หลวงพ่อสมชายจึงนับเป็นเกจิผู้สืบสายพุทธาคมหลวงปู่ไข่ ผ่านหลวงพ่อแจ๋มาแบบเต็มๆ พื้นเพเป็นชาวบางน้ำเปรี้ยวโดยกำเนิด เกิดในสกุล"ไทยเจริญ" เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2488 โยมบิดาชื่อ กำนันผาด โยมมารดาชื่อ นางจำปี ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน ครอบ ครัวประกอบอาชีพค้าขาย เยาว์วัยเข้าศึกษาที่โรงเรียนบางน้ำเปรี้ยววิทยา จบชั้นมัธยมฯ6 มีเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันชื่อดังหลายคน อาทิ นายอุดร ขจรเวหา อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, พล.อ.ธานี เกิดแก้ว และนายสุชล วัฒนวานิช อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ฯลฯ
หลังจากเรียนจบเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวได้ 3 ปี จึงอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2510 มี พระครูรัตนสุนทร (กวย) วัดบางน้ำเปรี้ยว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศิริเกตุวรคุณ(เลี่ยม)วัดเกตุสโมสร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูจารุวรรณ (จ้อย) วัดบางน้ำเปรี้ยว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร"อยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์ที่วัดบางน้ำเปรี้ยว 7 วัน จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ (คลอง 20) เพื่อศึกษาวิชาความรู้กับหลวงพ่อแจ๋ ที่เลื่อมใสศรัทธามาตั้งแต่ก่อนบวช ก่อนบวชนั้นบิดาพาไปฝากเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อแจ๋ ได้รับการเป่ากระหม่อมและมอบตะกรุดโทนให้ 1 ดอก
นอกจากนี้ เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นไฟแรงชอบตีรันฟันแทงกับนักเลงในถิ่นและต่างถิ่น โดนนักเลงดีฟันแทง แต่ไม่ระคายผิวหนังจนโด่งดังทั่วย่านบางน้ำเปรี้ยว ขณะจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ ท่านตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากนั้นจึงหันไปศึกษาพุทธาคมจนสามารถจารอักขระเลขยันต์ได้คล่องแคล่ว เขียนยันต์ได้งดงามเป็นที่ไว้วางใจจากหลวงพ่อแจ๋ มอบหมายให้จารตะกรุดแทน
ที่สำคัญท่านได้ศึกษาวิทยาคมที่หลวงพ่อแจ๋ได้ศึกษามากับหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน จนหมดสิ้น ทั้งวิชาจากพระครูญาณรังสีมุนีวงษ์(ทำ)วัดสัมปทวน ก็เรียนจนทะลุปรุโปร่ง ศึกษาวิทยาคมกับหลวงพ่อแจ๋นาน 6 ปี จึงเดินทางไปขอเรียนวิชาจากหลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว ได้รับวิชาตกทอดมาจากหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก และหลวงพ่อถึก วัดสนามช้าง ได้แก่ วิชาปลัดขิกและนะเก้ายอด ก่อนไปศึกษาพุทธาคมกับพระครูกิตตินนทคุณ (กี๋) วัดหูช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, หลวงปู่ถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อสีหมอก วัดวังตะโก
จากนั้นจึงธุดงค์รอนแรมไปในภาคเหนือเพื่อศึกษาและฝึกฝนพุทธาคมจนได้พบกับ พระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) พระป่าสายหลวงปู่มั่นที่วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่อยู่จำพรรษาฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ก่อนธุดงค์กลับมาวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ช่วยงานพระครูโพธิวรานุรักษ์ (ไพบูลย์) เจ้าอาวาส และเป็นศิษย์หลวงพ่อแจ๋รุ่นพี่ พัฒนาวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์จนเจริญรุ่งเรือง ในปี พ.ศ.2519 หลวงพ่อสมชายธุดงค์มาปักกลดบริเวณตำบลโพรงอากาศ นายจันทร์และนางแฉล้ม ประดิษฐ์วงศ์ (ศิริสุข) เจ้าของที่ดิน เกิดความศรัทธาจึงถวายที่ดิน 7 ไร่ ให้สร้างวัด พร้อมทั้งถวายที่ดินเพิ่มให้อีก 8 ไร่ รวมทั้งสิ้น 15 ไร่
นอกจากนี้ ท่านได้สละที่ดินส่วนตัวของท่านที่เป็นมรดกตกทอดมาจากโยมพ่อขายไปทั้งหมด แล้วนำเงินมาซื้อที่ดินเพิ่มจนมีที่ดินทั้งหมด 48 ไร่ จากนั้นจึงเริ่มงานก่อสร้างต่างๆ ระหว่างเริ่มก่อสร้างวัดท่านได้รับนิมนต์ไปประเทศอินเดียเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน 5 ตำบล กับพระครูประกาศสมาธิคุณ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ และหลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี
คราวนั้นได้นำผ้าป่าไปทอดถวายวัดไทยที่เมืองสารนาถ เพื่อสร้างโบสถ์ได้ปัจจัยจำนวน 76,000 ดอลลาร์ หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศไทย
หลวงพ่อสมชายเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง พูดจริง ทำจริง ใครที่ได้เข้ามากราบนมัสการสนทนาพูดคุยจะได้ข้อธรรมมากมาย ด้วยท่านจะให้คำแนะนำสั่งสอน และชี้ทางแก้ไขทุกข์ทางกายและทางใจ โดยท่านจฝต้อนรับญาติ โยมด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ปัจจัยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคของญาติโยม หรือจากการทำบุญบูชาวัตถุมงคล ท่านจะนำไปใช้สร้างวัดโพรงอากาศจนหมดสิ้น แม้ท่านจะชอบเก็บตัวเงียบ แต่งานปลุกเสกวัตถุมงคล เจ้าภาพจะต้องส่งใบฎีกานิมนต์หลวงพ่อสมชายเข้าร่วมนั่งปรกแทบทุกครั้ง ด้วยเชื่อในพลังจิตอันเข้มขลังที่มีอยู่ในตัวท่าน
ผลงานชิ้นสำคัญของหลวงพ่อสมชาย คือ อุโบสถมหาเจดีย์ ซึ่งเป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน จ.ฉะเชิงเทรา มีเสาโบสถ์ขนาด 3 คนโอบ จำนวนถึง 196 ต้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดโพรงอากาศที่โดดเด่นสะดุดตา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2535
หลวงพ่อสมชายได้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ โดยสืบสานตำรา และรูปแบบของหลวงพ่อแจ๋วัตถุมงคลยอดนิยมของท่าน อาทิ พระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก รุ่นแรก สร้างตามตำรับหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, เหรียญนางกวัก รุ่นแรก และรุ่น 2 พิมพ์ทรงเดียวกับของหลวงพ่อแจ๋, เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปลัดขิกเรื่องพุทธคุณนั้น ดีทางแคล้วคลาดคงกระพัน จากประสบการณ์ของลูกศิษย์หลายๆคน