รักตัวเองก่อนรักใคร! หยุดพฤติกรรมเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
รักตัวเองก่อนรักใคร! หยุดพฤติกรรมเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
![https://firebasestorage.googleapis.com/v0/b/workpoint-3e66e.appspot.com/o/users%2FU29ce8cdc1624438b8e915ce5dbd8f42a%2Fca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg?alt=media&token=ca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg](https://firebasestorage.googleapis.com/v0/b/workpoint-3e66e.appspot.com/o/users%2FU29ce8cdc1624438b8e915ce5dbd8f42a%2Fca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg?alt=media&token=ca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg)
เดือนแห่งความรัก ใครๆ ก็อยากบอกรัก แต่ถ้าจะรักกันอย่าง “ลึกซึ้ง” อย่าลืมความปลอดภัยต้องมาคู่ด้วยเสมอ เปิดสถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทบทวน 4 ขั้นตอน “เลือก-เก็บ-ใช้-ทิ้ง” ถุงยางอนามัย ให้เซ็กส์นี้ไม่ต้องเสี่ยง
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
ใกล้วันวาเลนไทน์แล้ว คู่รักหลายคู่ต่างเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความรักและแสดงความรักในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นการแสดงความรักที่ลึกซึ้งและใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ Sexually transmitted infections (STIs)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย เช่น หนองใน (Gonorrhea), หนองในเทียม (Chlamydia), เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes), การติดเชื้อ HIV, การติดเชื้อ HPV, โลน (Pubic lice), ซิฟิลิส (Syphilis), พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis), ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) ฯลฯ โดยมีสาเหตุหลักของการติดและแพร่เชื้อต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่าปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ ถึง 10,879 คน เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 59 ที่พบอัตราป่วย 47.35 ต่อแสนประชากร เป็น 96.87 ต่อแสนประชากร ในปี 67 สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศ 57.12 ต่อแสนประชากร
สถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในพื้นที่ กทม. 2567
- ซิฟิลิส 3,677 คน หรืออัตราป่วย 50.999 ต่อแสนประชากร
- หนองใน 24.97 ต่อแสนประชากร
- หูดหงอนไก่ 18.80 ต่อแสนประชากร
- หนองในเทียม 18.11 ต่อแสนประชากร
- เริม 15.22 ต่อแสนประชากร
*ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปี
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค
- ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี
ทั้งนี้ไม่มีการป้องกันใดที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 100% เนื่องจากบางโรคสามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
4 ขั้นตอนใช้งานถุงยางอนามัยให้ปลอดภัยไร้กังวล
- “เลือก” ให้ถูกไซส์ ไม่ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป
- “เก็บ” ในที่ที่ใช่ หลีกเลี่ยงความร้อน ความเย็นจัด แสงแดด และไม่เก็บในกระเป๋าสตางค์ ป้องกันการเสื่อมสภาพและฉีกขาด
- “ใช้” ให้ถูกสเต็ป ตรวจสอบสภาพซอง-วันหมดอายุ, ฉีกซองอย่างระมัดระวัง ไม่สะกิดโดนถุงยางขาด, บีบกระเปาะไล่ลมกันถุงยางแตกเมื่อเสียดสี, สวมให้ถูกด้านเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว, รูดสวมถุงยางอนามัยให้สุดโคนอวัยวะเพศ
- “ทิ้ง” ให้ถูกวิธี รีบถอดทันทีเมื่อใช้งานเสร็จ อย่ารออวัยวะเพศอ่อนตัว ใช้ทิชชู่จับที่ขอบถุงก่อนถอด และห่อกระดาษทิ้งให้เรียบร้อย
อ้างอิง: