ไทยถ่ายทอดเทคโนโลยี่ 'เปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน' รักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ไทยถ่ายทอดเทคโนโลยี่ 'เปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน' รักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สถาบันสุขภาพเด็กฯ ประสบความสำเร็จถ่ายทอดองค์ความรู้การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนไปยังโรงพยาบาลไทยและต่างประเทศ 6 แห่ง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางรายทราบตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา บางรายทราบได้หลังจากทารกคลดออกมาแล้ว ขณะที่บางรายตรวจพบในภายหลัง อัตราเฉลี่ยของทารกที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้น ทุก ๆ 1,000 คน จะมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 คน ซึ่งเป็นสถิติที่พบได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ดังนั้นในไทยซึ่งมีทารกเกิดใหม่ปีละประมาณ 500,000 คน จะมีทารกที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนี้ประมาณ 4,000 รายต่อปี และประมาณ 400 ราย จะเป็นทารกป่วยด้วยโรคหัวใจพิการชนิดรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง (Critical Congenital Heart Disease, CCHD) เช่น Tetralogy of Fallot (TOF) เป็น 1 ในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดของประเทศ อุบัติการณ์ของผู้ป่วย TOF ประมาณ 250 รายต่อปี โดยทุกรายจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา และหลังจากผ่าตัดไปแล้ว 12-15 ปี ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ ซึ่งในแต่ละครั้งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อโรคหัวใจและระบบอื่นๆของร่างกายมากขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน (Percutaneous Pulmonary Valve Implantation, PPVI) เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอย ลดระยะเวลาพักฟื้น และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดซ้ำได้ แต่เป็นเทคนิคเฉพาะทางที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย อาศัยทีมงานสหวิชาชีพ และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600,000 - 1,000,000 บาท ต่อราย
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เริ่มการรักษาผู้ป่วยด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยพิการแต่กำเนิดทางสายสวนได้ และขยายเครือข่ายความร่วมมือผ่านการฝึกอบรม และประชุมวิชาการ ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากลในการร่วมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนไปแล้วทั้งสิ้น กว่า 100 ราย
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้รับเชิญให้ทำการถ่ายทอดสดการสวนหัวใจระดับนานาชาติครั้งแรก จากห้องสวนหัวใจไฮบริดของสถาบันฯ ไปยังงานประชุม The 6th Congress of Congenital Heart Disease: Left Heart Intervention from A to Z ประเทศเวียดนาม พ.ศ. 2559 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนถึงปี พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ทำให้ในปี พ.ศ. 2560 สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Congenital and structural interventions (CSI) Foundation สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดประชุม CSI Asia Pacific 2017 ในวันที่ 2-4 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ โดยมีการร่วมถ่ายทอดสดกับโรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมด 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาล Madras Medical Mission (ประเทศอินเดีย) Institut Jantung Negara (ประเทศมาเลเซีย) และ Showa Medical University Hospital (ประเทศญี่ปุ่น) มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 274 รายจาก 37 ประเทศทั่วโลก และมีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา (เยอรมัน, ญี่ปุ่น) ในปี พ.ศ. 2565 สถาบันฯ ได้รับเกียรติจาก CSI Foundation ให้เป็นเจ้าภาพ CSI Asia Pacific ทุกปี จนถึง 2567 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลก กว่า 600 คน
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
สิ่งที่ได้รับจากการประชุม คือ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจจากทุกมุมโลก, ขยายเครือข่ายด้านการแพทย์ และสร้างมิตรภาพกับผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆจากประเทศต่างๆ, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นที่รู้จักในวงการกุมารแพทย์โรคหัวใจในระดับนานาชาติมากขึ้น และสามารถทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความมุ่งมั่นและทักษะการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างประเทศประทับใจและชื่นชมความสามารถและศักยภาพของประเทศไทย ที่สามารถจัดการประชุมนานาชาติได้อย่างดีเยี่ยม การที่ได้รับการยอมรับ และเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีศักยภาพ ทำให้มีบุคลกรต่างประเทศ เข้ามาฝึกอบรม ทั้งระยะสั้น -กลาง (8 ราย) และระยะยาว 1 ปีขึ้นไป 6 ราย) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ที่สถาบันฯ เริ่มรักษาด้วยวีธีสวนหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีทำการวิจัยระดับนานาชาติร่วมกัน ให้คำปรึกษา และ จัดประชุมวิชาการร่วมกันด้วย