มทร.ธัญบุรีผุดหลักสูตรใหม่ตอบโจทย์วิศวกรยุคใหม่ เน้น AI ลดโลกร้อน
มทร.ธัญบุรีผุดหลักสูตรใหม่ตอบโจทย์วิศวกรยุคใหม่ เน้น AI ลดโลกร้อน
หลักสูตรประกาศนียบัตร “การประยุกต์ใช้ AI และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านวิศวกรรมสำหรับงานติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมกับเอกชน ผุดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) “การประยุกต์ใช้ AI และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านวิศวกรรมสำหรับงานติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธ์ใหม่ ปี 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานยุค 4.0 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน เช่น การคำนวณ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประยุกต์ใช้ AI และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในงานติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับต่างชาติ ผู้เข้าอบรมจะสามารถระบุแหล่งคาร์บอนฟุตพรินท์ของโครงการ สื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ และนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
จุดเด่นของหลักสูตรคือ การผสมผสานระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม และการเน้นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีความร่วมมือกับภาคเอกชนจาก บริษัท บี คอนซัลแตนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทำให้หลักสูตรนี้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานจริง และผู้เรียนมีโอกาสได้ทำงานจริงในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะเดียวกันผู้เรียนจะได้เรียนรู้และเข้าใจขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ใน 8 งานสำคัญคือ งานเขียนแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานจัดหาเครื่องมือเครื่องจักรสำหรับโครงการ งานฐานราก งานโครงสร้างเหล็ก งานวางอุปกรณ์และเครื่องจักร งานระบบท่อและงานเชื่อมท่อระบบปรับอากาศ งานไฟฟ้าและเครื่องมือวัดพื้นฐาน รวมถึงงานการทดสอบการใช้งาน และได้กำหนดโมดูลการฝึกอบรมไว้ทั้งหมด 12 โมดูล จำนวน 36 วัน
.
การเปิดตัวหลักสูตรนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นไปตามนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องการผลิตกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 50,000 คนภายใน 5 ปี โดยเริ่มฝึกอบรมวันแรกที่ อาคาร 8 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้น 2 ห้อง 822 มทร.ธัญบุรี โดยมีคุณนารีรัตน์ ธนะเกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นวิทยากร