"จักรพันธุ์ ยมจินดา" เสียชีวิต

"จักรพันธุ์ ยมจินดา" เสียชีวิต

116815 ต.ค. 67 18:32   |     Tum1

"จักรพันธุ์ ยมจินดา" เสียชีวิตอย่างสงบที่ รพ.ศิริราช

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตนักการเมืองและอดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช ในวัย 70 ปี เมื่อเวลา 16.41 น. วันนี้ โดยลูกสาวของายจักรพันธุ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งข่าวเศร้าของวงการข่าวและวงการการเมืองในครั้งนี้ ระบุ

"พ่อ นายจักรพันธุ์ ยมจินดา จากไปอย่างสงบ ณ รพ ศิริราช เวลา 16.41 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2567 อายุ 70 ปี"



สำหรับนายจักรพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2497 ที่ ต.ตะพง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง จบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และสมรสกับนางอิสรา มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน โดยนายจักรพันธุ์ เริ่มทำงานที่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นผู้สื่อข่าวและผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา ร่วมกับ นายพิษณุ นิลกลัด และ นายเอกชัย นพจินดา ก่อนได้เป็นบรรณาธิการฝ่ายข่าว และทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวภาคค่ำ ช่อง 7 ด้วย 

โดยในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก่อรัฐประหาร ได้มอบหมายให้นายจักรพันธุ์ เป็นผู้อ่านประกาศคำสั่งของ รสช.ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ด้วย


ในงานการเมือง นายจักรพันธุ์ ลงสมัครและได้เป็น สส.ระยอง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ (13 ก.ย.35) และเป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย จนถึงกลางปี 2538 นายจักรพันธุ์ มาเป็นผู้ประกาศข่าวอีกครั้ง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แต่ปลายปี 2539 ได้ลาออก เพื่อลงสมัครเป็น สส.กทม.และได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.อีกสมัยด้วย จากนั้น ลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคไทยรักไทย (6 ม.ค.44) และถูกศาลจังหวัดระยอง เพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.47 เนื่องจาก ขึ้นเวทีปราศรัยหมิ่นประมาทบุคคล ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งต้นปี 2544 แม้ถูกวางตัวจากพรรคไทยรักไทยให้ลงชิงตำแหน่ง ส.ส.เขตของ กทม. (จะเลือกตั้งปี 2548) แต่ถูกศาลตัดสิทธิ์ฯเสียก่อน ต่อมา จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปี 2548



จากนั้น นายจักรพันธุ์ ก่อตั้งบริษัทผลิตรายการข่าว และเป็นพิธีกรข่าวด้วยตัวเอง ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (สนามเป้า) นอกจากนี้ ยังผลิตรายการโทรทัศน์ ประเภทวาไรตี้บันเทิงอื่นๆหลายรายการ รวมทั้งร่วมบริหารวิทยุเอฟเอ็ม 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ (ลูกทุ่งเอฟเอ็ม)ด้วย 

ปลายปี 2554 ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารบริษัทผลิตรายการข่าวดังกล่าว เพื่อมาเป็นกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนและพัฒนาองค์กร ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เลื่อนชั้นขึ้นเป็นรองประธานฯ กรรมการ จนถึงเป็นและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก่อนจะลาออกโดยให้เหตุผลด้านสุขภาพ จากการทำงานที่ไม่มีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกาย จึงต้องการใช้เวลาดูแลตัวเอง 


อ้างอิง-ขอบคุณข้อมูล :


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง