แม่เฒ่าวัย 93 ยึดอาชีพจักสาน ทำเข่งหาบขาย ส่งลูกเรียนจบด็อกเตอร์

แม่เฒ่าวัย 93 ยึดอาชีพจักสาน ทำเข่งหาบขาย ส่งลูกเรียนจบด็อกเตอร์

54106 ก.ย. 67 17:38   |     ่joe

พบแม่เฒ่าวัย 93 ยอดนักสู้ ยึดอาชีพจักสาน ทำเข่งหาบขาย ส่งลูกเรียนจบด็อกเตอร์ ตำรวจ ครู อย่างภาคภูมิใจ

6 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 7 บ้านไร่สะแคง ต.หนองกะปุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี มีคุณยายวัย 93 ปี ร่างกายแข็งแรงสายตาดี ยังสืบทอดงานจักสานทุกชนิด โดยเฉพาะการสานเข่งหาบ จำหน่ายให้แก่ชาวบ้านเพื่อนำไปใช้ในงานสืบสานประเพณี “งานบุญสลากภัตวัดโพธิ์ลอย” ที่ทำสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี


บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านทรงไทยโบราณ ที่บริเวณฉางข้าวพบคุณยายจวง เขียดทอง (รักดี) อายุ 93 ปี กำลังนั่งเคี้ยวหมาก สายตาจับจ้อง มือสานเส้นตอกและเส้นหวาย บรรจงขึ้นรูปทรงเป็น “เข่งหาบ” ด้วยสายตายังดีโดยไม่ต้องสวมใส่แว่นตา



คุณยายจวง เล่าย้อนความหลังจากความทรงจำให้ฟังว่า เกิดเมื่อปี 2474 เป็นบุตรีของนายเหมือง-นางอาบ เขียดทอง หลังจากเรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดโพธิ์ลอย ต.หนองกะปุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ก็ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากสมัยนั้นต้องเดินเท้าไปเรียนไกลถึงในตัวเมืองเพชรบุรี จึงออกมาช่วยครอบครัวทำนาและทำตาล


ประกอบกับคุณพ่อเหมืองเป็นช่างฝีมือหลายอย่าง เช่น ทำบ้านเรือนไทย และตีเหล็ก ส่วนคุณแม่อาบก็เป็นช่างจักสานทุกชนิด หลังว่างจากการทำนา คุณยายจวงได้มาเรียนรู้งานจักสานกับคุณแม่อาบ จนมีวิชาความรู้ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน



หลังจากมีครอบครัว คุณยายจวงได้นำความรู้และประสบการณ์มาประกอบอาชีพจักสานหาเลี้ยงครอบครัว เช่น สานกระบุง, กระบาย, ตะกร้า, ตะแกรง, กระชอน, กระด้ง, กระจาด, ชะลอม, กะล่อม, กะโล่, สุ่มไก่, สุ่มปลา, ข้อง, พัด, กระเช้า, มอบวัว, ซ่อนดักปลา, เสื่อรำแพน ฯลฯ


โดยเฉพาะการสาน “เข่งหาบ” คุณยายจวงจะสานจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในชุมชน เพื่อนำไปจัดสิ่งของใส่หาบร่วมงานสืบสานประเพณี “งานบุญสลากภัต” ที่วัดโพธิ์ลอย ซึ่งทำสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี



คุณยายจวงเริ่มทำจักสานหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน เครื่องจักสานในสมัยนั้น คุณยายจวงจำหน่ายเพียงชิ้นละ 3-5 บาท จนสามารถส่งลูกเรียนปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี รับราชการเป็นทั้งอาจารย์ ครู และนายตำรวจ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ


ขั้นตอนการทำเข่งหาบค่อนข้างพิถีพิถันใช้เวลานาน เริ่มจากตัดไม้ไผ่สีสุกจากกอไผ่ นำมาตัด ผ่าซีก และใช้มีดเหลาเป็นตอกเส้นเล็กๆให้เสมอกัน ก่อนนำไปแช่น้ำ และนำเส้นตอกมาสานเข่งขึ้นลาย เช่น ลายพิกุล ลายเฉลว หรือฉลิว หรือที่ชาวบ้านโพธิ์ลอยเรียกกันว่า “ลายเข่ง” โดยเริ่มสานจากก้นเข่งขึ้นเป็นลายหกเหลี่ยม และสานตาเล็กๆเท่าๆกัน ซึ่งตัวเข่งจะใช้สานครอบกับต้นแบบเพื่อที่จะได้รูปทรงและขนาดเท่ากัน สวยงามตามแบบที่ใช้


เมื่อสานเข่งถึงขอบ หรือปากหาบ ก็จะพับและตัดให้เรียบร้อย ก่อนดึงออกจากต้นแบบ จากนั้นนำไม้ไผ่ที่ผ่าแล้วเหลาให้ยาวบาง ตัดให้เป็นวงกลม 2 วงซ้อนกัน มัดด้วยเชือกแล้วนำมาเข้าขอบปากเข่ง ใช้หวายเส้นเล็กๆมัด และถักตามขอบด้านบนที่เรียกว่า “สันปลาช่อน” ก่อนถักลดหลั่นลงมาถึงขอบด้านในและด้านนอก เรียกว่า “ยายจูงหลาน” หรือ “จูงนาง” เสร็จแล้วใช้หวายเส้นถัก “ลายสอง” ด้านข้างเข่งโดยรอบ จากนั้นทำตีนเข่ง ใช้ไม้ไผ่เหลาเรียวแหลมตามมุมเข่งทั้ง 6 มุม ใช้หวานเส้นมัดติดแล้วถักลายตามมุมขึ้นไปถึงปากเข่ง อีกส่วนใช้หวายลำทำตีนเข่ง


ชั้น 1 วางรัดตามขอบด้านล่างหักมุมโดยรอบ ชั้น 2 ตัดหวายเป็นท่อนหักมุมทั้ง 6 มุม เว้นระยะห่าง และชั้น 3 ใช้หวายตลอดแนวหักตามมุมด้านล่าง โดยใช้ตะปูเข็มตอกยึดติดกัน เสร็จแล้วใช้หวายลำยาว 2 เส้น แช่น้ำ โค้งพับครึ่ง แล้วทำหูเข่งด้วยหนังวัวมัดด้วยหวายเส้น ถักลายให้สวยงาม จากนั้นใช้ไม้ไผ่เหลาแบบ 3 อัน ขัดตูดเข่งเป็นกากบาท เข้าสายสอดเข้ารูของลายเฉลวขัดขดที่ตูดเข่ง เสร็จแล้วนำไปทาสีน้ำมันเพื่อรักษาเนื้อไม้


เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำไปจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในราคาหาบละ 2,500-3,500 บาท เพื่อนำไปจัดสิ่งของใส่หาบร่วมงานสืบสานประเพณี “งานบุญสลากภัต” ที่วัดโพธิ์ลอย กำหนดจัดขึ้นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เดือนกันยายนของทุกปี

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง