พบ"ปลาหมอบัตเตอร์"หนึ่งในปลาต้องห้าม ในเขื่อนสิริกิติ์

พบ"ปลาหมอบัตเตอร์"หนึ่งในปลาต้องห้าม ในเขื่อนสิริกิติ์

77808 ส.ค. 67 19:07   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

พบ"ปลาหมอบัตเตอร์"หนึ่งในปลาต้องห้าม ในเขื่อนสิริกิติ์ ไล่กินปลาพื้นถิ่น ผู้ว่าฯสั่งแก้ไขด่วน เตรียมจัดกิจกรรมปรุงอาหารเพราะเนื้ออร่อยกว่าปลานิล

(8ส.ค.67) เวลา 15.10 น. ที่ กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นายศิริวัฒน์ บุบผาเจริญ ผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์ , ดร.อนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ , นายวุฒิไกร สร่างนิทร ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงเรือน่านนที 14 มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านประมงน้ำจืด ชุมชนเลี้ยงปลากระชัง ที่อยู่ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หลังรับแจ้งจากชาวประมง ว่า พบ"ปลาหมอบัตเตอร์"กำลังแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์น้ำทุกชนิดลดลงอย่างต่อเนื่อง อยากให้มีการเร่งควบคุมการขยายพันธุ์ของ"ปลาหมอบัตเตอร์"ก่อนที่สัตว์น้ำหรือปลาประจำถิ่นจะสูญพันธุ์ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์ ไปถึงยังแพอาศัยของชาวประมง พบปลา"ปลาหมอบัตเตอร์"ที่ชาวประมง สามารถจับได้จำนวนหนึ่ง 


จากการสอบถามทราบว่าในช่วง 1 - 2 ปี ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พบประชากรของปลาหมอบัตเตอร์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งไม่มั่นใจว่ามีการขยายพันธุ์อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ได้อย่างไร ทั้งนี้ปลาชนิดดังกล่าวกินสัตว์และพืชเป็นอาหาร ส่วนใหญ่จะกินลูกปลา กุ้งก้ามกราม ไข่ปลา จะถูกปลาชนิดนี้โจมตีและกินเป็นอาหาร มีผลกระทบต่อ ปลาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะปลาประจำถิ่น เช่น ปลาตะโกก ปลาแรด ปลาซิว กุ้งก้ามกราม จากที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมากปัจจุบันลดลง 


นายกนกศักดิ์ จุลบุตร ชาวประมงอาศัยอยู่บนแพกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวว่า พบปลาหมอบัตเตอร์ที่เขื่อนสิริกิติ์มาได้ประมาณ 10 ปี ซึ่งตอนนั้นมีไม่มาก ซึ่งไม่รู้ที่มาที่ไป แต่ระยะ 1-2 ปีมานี่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ชนิดว่าระยะหนักก็ว่าได้ ปลาประเภทนี้กินสัตว์น้ำเป็นอาหาร แต่ก่อนปลานิลแม่น้ำ(ไม่เลี้ยงในกระชัง) ชาวประมงจะจับได้เป็นจำนวนมาก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีเห็น ๆ คือ ปลานิลเลี้ยงในกระชัง ขณะเดียวกันปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เขื่อนสิริกิติ์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ออกหาปลา ดักข่าย ตกเบ็ด ปลา 100 ตัว เป็นปลาหมอบัตเตอร์เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ 


“ด้วยประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งสามารถบอกเห็นปลาหมอบัตเตอร์อยู่รอบ ๆ แพที่อยู่อาศัย นำเบ็ดมาตกก็ได้แล้ว เพราะจะอาศัยอยู่ตามบวบแพ ตามตอไม้ใต้น้ำ” นายกนกศักดิ์ กล่าว


นายกนกศักดิ์ บอกอีกว่า อาหารของมันคือเศษอาหารของชาวประมง และจะไล่กินปลาชนิดอื่น ปลาธรรมชาติแพร่พันธุ์แทบไม่ได้ จะมีเพียงปลาที่เลี้ยงในกระชัง จึงอยากให้มีมาตรการควบคุมประชากรปลาหมอบัตเตอร์ ก่อนจะหลุดไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ภายนอกเขื่อนสิริกิติ์ 


นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า ปลาหมอบัตเตอร์ เป็น 1 ใน 3 ปลาหมอต่างถิ่น ที่ กรมประมง ห้ามนำเข้า - ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2561 พร้อม ๆ กับปลาหมอสีคางดำและปลาหมอมายัน ปัจจุบันพบแพร่พันธุ์อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลทำให้พันธุ์ปลาดั้งเดิมลดน้อยลงและเข้าไปแทนที่ปลาประจำถิ่นบางชนิดแล้ว 


นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นประสานไปยังประมงจังหวัดและศูนย์ประมงเขตพิษณุโลก เร่งสำรวจอัตราการเจริญเติบโตของปลาดังกล่าว ในเขื่อนสิริกิติ์อยู่ในระดับใด ทั้งนี้จะมีการควบคุมไม่ให้มีการขยายไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง และผู้เลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำภายในเขื่อนสิริกิติ์ ช่วยในการแจ้งจุดการระบาดและห้ามเพาะเลี้ยงอย่างเด็ดขาด 


“ยืนยันตามแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ บริเวณท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ยังไม่ได้รับรายงานพบหมอปลาดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่ามีเฉพาะในส่วนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์” นายศิริวัฒน์ ระบุ


นายศิริวัฒน์ บอกด้วยว่า เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการจับและนำมาปรุงอาหาร ซึ่งก็พบว่าลักษณะของเนื้อปลาหมอบัตเตอร์มีรสชาติดี มีความหนึบแน่น หอม หวาน อร่อยกว่าปลานิล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง




TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง