ถูกหลอกต้องทำอย่างไร? เปิดวิธีการจัดการหลังตกเป็นเหยื่อคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพ

ถูกหลอกต้องทำอย่างไร? เปิดวิธีการจัดการหลังตกเป็นเหยื่อคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพ

27804 มิ.ย. 67 17:26   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ถูกมิจฉาชีพกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกอย่ารอช้า โทรแจ้งอายัดบัญชีทันทีแล้วรีบแจ้งความ ยิ่งทำเร็ว ยิ่งมีโอกาสได้เงินคืน!

แม้ว่าจะมีการออกข่าวแจ้งเตือนเรื่องเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพในรูปแบบอื่นๆ อยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะรูปแบบการหลอกลวงที่มักจะถูกปรับเปลี่ยนเสมอ


นอกจากนี้หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว ก็ไม่รู้ว่าควรจะทำเช่นไร กังวลและคิดว่าการแจ้งความนั้นยุ่งยากเกินไป และอาจไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก ซึ่งในความเป็นจริงยิ่งผู้เสียหายดำเนินการได้เร็ว ก็จะมีโอกาสที่ติดตามเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถทำได้ทันทีโดยที่ยังไม่ต้องไปถึงธนาคารหรือสถานีตำรวจด้วย


หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 เป็นผลให้ผู้เสียหายสามารถโทรศัพท์เพื่อติดต่อขออายัดการทำธุรกรรมกับธนาคารของบัญชีปลายทางได้ทันที โดยธนาคารจะทำการอายัดบัญชีไว้ 7 วันเพื่อรอหมายอายัดบัญชีจากตำรวจ และให้เวลาผู้เสียหาย 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน ในการนำหลักฐานเข้าแจ้งความ โดยเบอร์โทรศัพท์ของธนาคารต่างๆ ที่สามารถแจ้งอายัดได้มีดังนี้


  • ธ.กสิกรไทย 0-2888-8888 กด 001
  • ธ.ไทยพาณิชย์ 0-2777-7575
  • ธ.กรุงเทพ 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3
  • ธ.กรุงไทย 0-2111-1111 กด 108
  • ธ.กรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
  • ธ.ออมสิน 1115 กด 6
  • ธ.ยูโอบี 0-2344-9555
  • ธ.ทหารไทยธนชาต 1428 กด 03
  • ธ.เกียรตินาคินภัทร 0-2165-5555 กด 6
  • ธ.ไอซีบีซี(ไทย) 0-2629-5588 กด 4
  • ธ.ซีไอเอ็มบีไทย 0-2626-7777 กด 12
  • ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 0-2555-0555 กด 111
  • ธ.ทิสโก้ 0-2633-6000 กด *7
  • ธ.ไทยเครดิต 0-2697-5454
  • ธ.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ 0-2459-0000 กด 8
  • ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย 1302 กด 6
  • ธ.อาคารสงเคราะห์ 0-2645-9000 กด 33



การแจ้งความสามารถทำได้ทุกท้องที่ หรือทำผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เช่นกัน


เว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ https://thaipoliceonline.go.th/ จุดสำคัญที่ต้องสังเกตคือที่อยู่เว็บจะต้องลงท้ายด้วย .go.th ที่เป็นที่อยู่เว็บในหมวดหน่วยงานราชการเท่านั้น บุคคลทั่วไปไม่สามารถสมัครใช้งานที่อยู่เว็บไซต์ในหมวดนี้ได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ใช่เว็บของมิจฉาชีพที่ปลอมหน้าเว็บมา และแนะนำให้เข้าเว็บด้วยการพิมพ์ที่อยู่เว็บเอง แทนการกดลิงก์ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ถูกซ่อนลิงก์ปลอมอื่นๆ เอาไว้ด้วย


ภายในเว็บจะมีเมนูให้เลือกแจ้งความออนไลน์ และมีคู่มือการใช้งานเว็บ ที่ผู้เสียหายสามารถลงทะเบียนใช้งานตามระบบได้เลย เมื่อแจ้งแล้วจะมีการแจ้งชื่อหน่วยงานที่ผู้เสียหายสามารถติดตามเรื่องได้


สำหรับคนที่ไม่ถนัดการทำรายการผ่านอินเตอร์เน็ต ก็สามารถนำหลักฐานต่างๆ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เช่นกัน เมื่อแจ้งความแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 7 วัน และจะมีการส่งหมายอายัดไปให้ธนาคาร หากธนาคารไม่ได้รับหมายอายัดในเวลาดังกล่าวก็จะมีการปลดล็อกบัญชีดังกล่าวให้ทำธุรกรรมได้ตามปกติ


เมื่อแจ้งความและอายัดบัญชีแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่ และได้คืนเมื่อไหร่ นั้นไม่สามารถระบุเป็นเวลาที่ชัดเจนได้ ขึ้นกับการทำคดีของตำรวจ แต่หากผู้เสียหายอายัดบัญชีได้เร็ว ก่อนที่มิจฉาชีพจะทันผ่องถ่ายเงินออกจากบัญชีม้า ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับเงินคืนมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้กำหนดให้การเปิดและขายบัญชีม้า รวมทั้งซิมม้า ให้บุคคลอื่นนำไปใช้งาน ถือเป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนการโฆษณาบริการบัญชีม้าและซิมม้าจะมีโทษจำคุก 2-5 ปี และปรับ 200,000-500,000 บาท


ที่มา:

https://thaipoliceonline.go.th/

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A018N0000000000100.pdf

https://www.blognone.com/node/133055

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง