ม.พิษณุโลกยันไม่มีการซื้อขายวุฒิการศึกษา

ม.พิษณุโลกยันไม่มีการซื้อขายวุฒิการศึกษา

16503 ก.ค. 67 17:17   |     AdminNews

ม.พิษณุโลกปฏิเสธไม่มีการซื้อขายวุฒิการศึกษาตามที่ปรากฏในข่าวและสื่อโซเซียล ระบุผู้เสียหายรายหนึ่งถูก 'ประธานมูลนิธิดัง' แอบอ้างขายวุฒิการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในราคา 200,000 บาท พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินกฎหมายแก่ผู้ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย

วันที่ 3 กรกฎาคม 67 ที่มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ดร.มานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยพิษณุโลก นายชาตรี จำลองกุล นิติกรมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ว่าที่ ร.ต.ดร.สุนิมิต ชุ่มพงษ์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้ร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน กรณีที่มี ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อรายหนึ่งโพสต์ข้อความแฉระบุว่า มีผู้เสียหายรายหนึ่งถูกประธานมูลนิธิดังแอบอ้างขายวุฒิการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในราคา 200,000 บาท ซึ่งประธานมูลนิธิคนนี้จะได้เปอร์เซ็นต์จากเงินส่วนนี้ด้วยและยังมีการแอบอ้างซื้อขายตำแหน่งในรัฐสภาราคา 60,000 บาท กระทั่งปัจจุบันเมื่อมีการทวงถามไปก็ตอบบ่ายเบี่ยง  


ดร.มานพ เกตุเมฆ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่เป็นข่าวรองศาสตราจารย์ดร. วีระชัย พุทธวงศ์อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ หรือ อ.อ๊อด มีความห่วงใยการซื้อขายวุฒิการศึกษา ตามที่เป็นข่าวในสื่อและโซเซียลดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมขอพูดข้อเท็จจริงรายละเอียดเบื้องต้น กรณีที่เป็นข่าวในสื่อและโซเชียล 

โดยทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลกยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องจริง การซื้อขายวุฒิการศึกษาไม่มี การพูดของนักศึกษาที่พูดออกไปทำให้ ม.พิษณุโลกได้รับความเสียหาย ทางนิติกรมหาวิทยาลัยจะดำเนินทางกฎหมายในทันที สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ทราบว่าเป็นเรื่องภายในหรือเกิดการทะเลาะกัน ผมยังไม่ทราบแต่จากการตรวจสอบพบว่า นักศึกษารายดังกล่าว ได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยพิษณุโลกจริง แต่เพิ่งเข้ามาเรียนได้ไม่นาน ซึ่งจากการตรวจหลักฐานพบว่ามีการมาสมัครเรียน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีการมาชำระตามระเบียบของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะพึ่งเข้ามาเรียนในภาคเรียนที่ 2 ที่ผ่านมาก็ตาม เราถือว่าเป็นนักศึกษาเราแต่ยังไม่จบการศึกษา ยังคงมีสภาพการเป็นนักศึกษาที่ต้องมีการเรียนการสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอยู่ เราไม่ทราบว่ามีการพูดคุยกับนักศึกษาอย่างไร เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เป็นความจริง ทางมหาวิทยาลัยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งกับดำเนินการตามกฎหมาย

นายชาตรี จำลองกุล นิติกร มหาวิทยาลัยพิษณุโลกกล่าวว่า เราเพิ่งทราบข่าวเมื่อวานนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย ในวันนี้เวลา 13.00 น.จะมีการประชุมคณะผู้บริหารเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมจะหาข้อมูลได้อย่างไรจะได้รายงานให้ทราบต่อไป


ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุนิมิต ชุ่มพงษ์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า นักศึกษาดังกล่าว ได้มาลงทะเบียนเป็นวงเงินทั้งสิ้น 130,000 บาท และค่าสมัครแรกเข้า 1,500 บาท เรียนทั้งหมด 6 เทอม 3 ปี 41 รายวิชา ยืนยันว่า ขณะนี้ยังเรียนอยู่ยังไม่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ซึ่งเริ่มเรียนในภาคเรียนที่ 2 เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา สำหรับเงินไม่ได้จ่ายเกินจากความเป็นจริง เป็นเงินที่จ่ายให้มหาวิทยาลัยตามปกติคือ คนละ 130,000 บาท และค่าแรกเข้า 1,500 บาทเป็นไปตามคอร์สปริญญาตรี ที่ได้เลือกเรียน สำหรับนักศึกษาดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยได้พยายามติดต่อ แต่ไม่ยอมรับสาย โดยจากภาพที่โชว์หัวกระดาษเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกที่ได้จ่ายค่าแรกเข้า 1,500 บาท ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลก เสียหายที่ไม่ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวออกด้วยเรื่องอะไร คงต้องเรียกตัวมาพูดคุยกันว่าสิ่งที่ทำทำไปเพื่ออะไร ทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไป ในเรื่องนี้คงต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง 


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี 'ประธานมูลนิธิ' กับทางมหาวิทยาลัยรู้จักหรือไม่ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ตอบว่า ไม่รู้จักกันมาก่อนและไม่รู้ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยขอปฏิเสธ ส่วนที่อ้างว่าจ่าย 2 แสนบาท นักศึกษาไปแจ้งความเป็นการเรียกร้องเงินหรือไม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ยืนว่าไม่จริง มหาวิทยาลัยไม่ได้เก็บเงินเกินจริงจากค่าเทอมปกติ ส่วนการที่จะไปจ่ายให้กับนายหน้า ทางมหาวิทยาลัยไม่ขอรับรู้ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการดำเนินการของนักศึกษาดังกล่าว แต่ใครทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความเสียหายทางนิติกรจะดำเนินการทางกฎหมาย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่จะสร้างมาได้ง่ายๆเราปฏิบัติตามกฎหมายตามระเบียบทุกประการ 


สำหรับมหาวิทยาลัยพิษณุโลกเปิดดำเนินการมากว่า 20 ปี เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องหารายได้เพื่อดูแลมหาวิทยาลัย ถ้าขาดทุนจะต้องหาเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ โดยเราได้เปิดภาคเรียนปกตินักศึกษาสามารถเลือกเรียนในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ หรือเลือกเรียนช่วงเสาร์-อาทิตย์ ได้ตามความต้องการของนักศึกษาเพื่อเปิดโอกาสกับนักศึกษาได้มีโอกาสทางการศึกษา 


วันนี้ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการพร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้ามีฝ่ายบุคลากรมหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามระเบียบ ไม่ละเว้นไม่ได้กังวลอะไร เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจนว่ากันไปตามกฎหมาย



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง