3 ชีวิตติดอุโมงค์ยังมีสัญญาณชีพอ่อนๆ คาดใช้ระยะทางเข้าถึงตัวอีกไม่มาก

3 ชีวิตติดอุโมงค์ยังมีสัญญาณชีพอ่อนๆ คาดใช้ระยะทางเข้าถึงตัวอีกไม่มาก

119826 ส.ค. 67 22:35   |     AdminNews

เจ้าหน้าที่ยังไม่ลดละระดมกำลังค้นหาคนงานสูญหาย 3 ราย จากเหตุดินถล่มอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ที่ จ.นครราชสีมา มีการใช้เครื่องสแกนหาสัญญาณชีพจาก ปภ. และนำสุนัข K9 เข้าร่วมภารกิจ ล่าสุดยังคงพบสัญญาณชีพของคนงานทั้ง 3 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คืบหน้า! เหตุดินถล่มทับคนงานภายในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 

อัปเดต! ภารกิจช่วย 3 คนงาน ถูกดินถล่มปิดอุโมงค์รถไฟฯ เหลืออีก 20 เมตร จะถึงตัวทั้งสาม คาดยังมีชีวิตอยู่

26 ส.ค.67 จากข้อมูลทราบว่าตอนนี้พิกัดจุดในการเข้าถึงทั้งสามคนชัดเจนแล้ว โดย 2 คนแรก ห่างจากจุดที่มีการวางท่อเข้าไปประมาณ 5 เมตร ซึ่งทางทีมวิศวกร ได้มีการวางแผนในการเข้าถึงรถของทั้ง 2 คน โดยจะดันท่อเข้าไปภายใน หลังจากนั้นเมื่อถึงตัวรถแล้วจึงจะมีการวางแผนต่อว่าจะค้นหาทั้ง 2 คนอย่างไร โดยระยะส่งท่อเข้าไปจะเป็นทางตัดกับจุดที่ใกล้กับคน

โดยในจุดแรกนี้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะเป็นจุดที่ใช้หลบภัยขณะเกิดเหตุเนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เป็นโพรงที่มีการซักซ้อม ให้หลบภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้เมื่อพบทั้ง 2 คนในจุดแรก ก็จะทำการขุดเข้าไปอีก 2 เมตร จึงจะถึงคนที่ 3 ซึ่งเป็นคนสุดท้าย ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ โดยทีม USAR ได้สแกนอีกครั้งเพื่อหาสัญญาณชีพทั้งสามคนในช่วงเวลา 18.00 น. พบว่าทั้งสามคนยังมีสัญญาณชีพอ่อน ๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เร่งในการขุดเข้าไปช่วยเหลือในจุดที่มีการมาร์คเอาไว้ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับเครื่องสแกนและสุนัข K9 ได้ระบุเอาไว้

อย่างไรก็ตาม หากพบทั้งสองคนแล้ว จะดำเนินการเข้าไปหาคนที่สาม ซึ่งคาดว่าเป็นวิศวกรชาวจีน ในจุดนี้ต้องขุดเข้าไปเพิ่มเติมอีก 5 เมตร รวมทั้งหมดหากขุดตั้งแต่เริ่มจนถึงคนที่สามจะใช้ระยะทางถึง 8 เมตร โดยท่อขนาดความกว้าง 1.2 เมตรที่เตรียมไว้มีความยาว 6 เมตร ในจุดที่สองจะใช้ท่อทั้งหมดสองชิ้นในการดันดินเข้าไป เพื่อช่วยเหลือวิศวกรชาวจีนเป็นรายสุดท้าย


ต่อมานายกฤษรักษ์ เนียมหอม เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงเครื่องตรวจจับชีพจรให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับอธิบายว่า เครื่องตรวจจับชีพจรเครื่องนี้ จะสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการเคลื่อนไหวของทรวงอกในเวลาที่ผู้ประสบภัยหายใจหน้าอกก็จะขยาย ซึ่งเครื่องนี้ก็จะสามารถตรวจจับสัญญาณชีพจรได้โดยทันที ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะนำเครื่องสแกนไปวางไว้ด้านในอุโมงค์ในจุดที่คาดว่าใกล้กับผู้ประสบภัยมากที่สุด และก็จะอ่านค่าจากหน้าจอที่ปรากฏ ซึ่งขณะนี้เพื่อความแม่นยำจึงต้องนำเครื่องสแกนไปกำหนดทีละเป้าก่อน จึงต้องเลือกเป้าที่ใกล้ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก


ด้านนายธนนท์ ดอกระดา ผจก.โครงการ เผยว่า เมื่อวานซืน (25ส.ค.67) เราตรวจจับพบสัญญาณชีพจรได้ จึงขุดดินและสอดท่อเข้าไปแล้วแต่ปรากฏว่าไม่เจอผู้ประสบภัย จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ให้ทุกฝ่ายสันนิษฐานร่วมกันว่าตัวรถบรรทุกดินจะอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ แล้วก็จะเจาะไปให้ถึง บริเวณกระจกหน้ารถของรถบรรทุกดินคันดังกล่าวซึ่งคาดว่าคงจะจอดหันหน้าออกมาทางอุโมงค์ ซึ่งปัญหาตอนนี้อย่างแรกคือ ถ้าเริ่มขุดดิน ดินก็จะยังคงถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างต่อมาคือ กังวลว่าฝนจะตกลงมาซ้ำแล้วจะทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง