อย่าทำอีก! พาณิชย์ตรังตรวจสอบร้านหมูย่าง หลังดราม่าโซเชียล พบบางร้านชั่งน้ำหนักไม่ครบจริง

อย่าทำอีก! พาณิชย์ตรังตรวจสอบร้านหมูย่าง หลังดราม่าโซเชียล พบบางร้านชั่งน้ำหนักไม่ครบจริง

71106 ส.ค. 67 13:45   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

สุดงง! ซื้อครึ่งโลได้ 4 ขีด คลิปโซเชียลโวยหมูย่างเมืองตรังขายริมทาง ชั่งน้ำหนักไม่ครบ พาณิชย์ตรัง ควง ชั่งตวงวัด บุกตรวจตาชั่ง หวั่นกระทบชื่อเสียงสินค้าจีไอ พบคาตาบางรายชั่งน้ำหนักขาดจริง แถมชั่งรวมกล่อง-กระดาษรอง เตือนอย่าทำอีก พร้อมตรวจยึดตาชั่งชำรุดทำลายทิ้ง ด้านแม่ค้ายอมรับ ดราม่าโซเชียลกระทบยอดขาย

จากกรณีผู้ใช้โซเชียลโพสต์คลิปชั่งพิสูจน์น้ำหนักหมูย่างเมืองตรังที่บรรจุในกล่องพลาสติกแบบใสมีฝาปิดมิดชิด และด้านในกล่องรองด้วยกระดาษขาวหรือกระดาษห่อหมูย่างเมืองตรัง พร้อมกับบรรยายว่า หมูย่างเมืองตรังกล่องดังกล่าวซื้อมาจากแฝงขายหมูย่างเมืองตรังร้านหนึ่ง บนถนนตรัง-พัทลุง ในราคากิโลกรัม 400 บาท และได้ซื้อมาครึ่งกิโลกรัม ราคา 200 บาท แต่เมื่อนำมาชั่งทั้งกล่องปรากฏว่ามีน้ำหนักเพียง 4 ขีด และเมื่อเทหมูย่างเมืองตรังออกจากกล่อง พบว่าภายในมีการรองด้วยกระดาษขาวหรือกระดาษห่อหมูย่าง จำนวน 3 แผ่น หรือน้ำหนักเกือบๆ 1 ขีด 


ซึ่งผู้โพสต์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "ใครจะซื้อหมูย่างเมืองตรังต้องดูดีๆ เพราะอาจถูกกลโกงของแม่ค้าหัวใส" โดยคลิปดังกล่าวมีความยาว 1 นาทีเศษ หลังจากเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไป พบว่ามีชาวเน็ตหลายรายเข้ามาแสดงความคิดเห็น ในทำนองที่ว่าเคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน 


(6 ส.ค.67) ล่าสุด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง พร้อมด้วยสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต 3-6 กระบี่ ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายหมูย่างเมืองตรัง ริมถนนสายตรัง-พัทลุง เพื่อตรวจวัดมาตรฐานเครื่องชั่ง และการปิดป้ายแสดงสินค้า ซึ่งพบว่าตาชั่งเป็นไปตามมาตรฐานเกือบทั้งหมด แต่พบว่ามี 2 ร้านที่ตาชั่งชำรุด เข็มของตาชั่งหัก 1 ข้าง ใช้งานได้จริงเพียง 1 ข้าง จึงได้ตรวจยึดตาชั่งชำรุดดังกล่าวไปเพื่อทำลาย 


ทั้งนี้ยังพบพฤติกรรมของร้านค้าบางร้านที่ชั่งหมูย่างเมืองตรังไม่เต็มน้ำหนักจริง โดยระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้พบกับลูกค้าชาวตรังคนหนึ่งมาซื้อหมูย่างเมืองตรัง น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้สอบถามและขอห่อหมูย่างของลูกค้าคนนั้นมาชั่ง เพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่แท้จริง 


เมื่อนำหมูย่างเมืองตรังทั้งห่อมาชั่งน้ำหนัก พบว่ามีน้ำหนักเพียง 1.4 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือน และสั่งให้เติมหมูย่างเมืองตรังส่วนที่ขาดหายไปให้ลูกค้า ตลอดทั้งยังได้ตักเตือนเรื่องคุณภาพของสินค้า กำชับเรื่องการติดป้ายแสดงราคาที่ชัดเจน รวมทั้งสุขอนามัยบริเวณร้านให้สะอาด เนื่องจากหมูย่างเมืองตรังเป็นสินค้าGI เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง


นางสาวหฤทัย อายุ 35 ปี แม่ค้าร้านหมูย่างเมืองตรัง บอกว่า ตนขายหมูย่างเมืองตรังริมถนนเส้นนี้มานานแล้ว และขายดีมาตลอดโดยเฉพาะช่วงเทศกาล แต่พอมีกระแสในโซเชียลก็ยอมรับว่าทำยอดขายตกลง ร้านตนตาชั่งตรงไม่โกงลูกค้า ตอนชั่งหมูย่างเมืองตรังให้ลูกค้า ก็ตัดแบ่งและสับให้ลูกค้าเลย ชั่งเฉพาะหมูย่างและห่อกระดาษหรือใส่กล่องให้ลูกค้า 


และหลังมีประเด็นในโซเชียลพฤติกรรมของลูกค้าที่มาซื้อเขาจะดูอย่างละเอียด เช่นดูตาชั่งว่าตรงหรือไม่ ดูว่าร้านสับหมูย่างเมืองตรังแบบไหน เพราะเขากลัวว่าร้านจะแอบเอาหมูย่างเมืองตรังที่ไม่ได้คุณภาพผสมลงไป  


นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง บอกว่า เนื่องจากว่าหมูย่างเมืองตรัง เป็นสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้าGI ฉะนั้นการจำหน่ายหมูย่างเมืองตรังต้องเน้นให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ทั้งเรื่องน้ำหนักตาชั่งที่เที่ยงตรง รวมไปถึงการติดป้ายแสดงราคาให้ชัด ส่วนเรื่องการชั่งการขาย แม่ค้าต้องชั่งน้ำหนักให้ชัดเจน ถ้าลูกค้าซื้อหมูย่าง 1 กิโลกรัม ลูกค้าก็ต้องได้หมูย่างน้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัมเต็ม 


แม่ค้าต้องชั่งน้ำหนักให้เที่ยงตรง ไม่ใช่ชั่งรวมกล่อง ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าหมูย่างเมืองตรังเกี่ยวกับประเด็นในโซเชียล ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายหมูย่าง เพราะผู้บริโภคก็ต้องชั่งใจก่อนซื้อ มีการชะลอซื้อกันบ้าง ทำให้บรรยากาศการซื้อขายหมูย่างเมืองตรังเงียบลงเล็กน้อย ซึ่งได้กำชับให้พ่อค้าแม่ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม 


นายวราชัย ไตรอรุณ หัวหน้าสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต 3-6 กระบี่ บอกว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้ มีการตรวจสอบด้วยกัน 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องเครื่องชั่งและการใช้เครื่องชั่ง ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการมีการใช้เครื่องชั่งที่ผ่านการตรวจสอบ และให้การรับรองจากกรมการค้าภายในถูกต้อง และเจ้าหน้าที่ได้ทดสอบความถูกต้องของเครื่องชั่ง พบว่าทุกร้านมีความคลาดเคลื่อนไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเที่ยงตรง และพบว่าบางร้านเครื่องชั่งชำรุดซึ่งเกิดจากการใช้งาน เช่น 


บางร้านมีเข็มชี้ค่าน้ำหนักเพียง 1 ด้าน ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วยการตรวจยึดเครื่องชั่งเพื่อส่งทำลาย เครื่องชั่งสปริงจะต้องมีเข็มชี้น้ำหนัก 2 ด้าน ด้านหนึ่งให้ผู้ซื้อมองเห็น ส่วนอีกด้านให้ผู้ขายมองเห็น 


แต่อย่างไรก็ตามการชั่งน้ำหนักหมูย่างให้ลูกค้านั้น พบแม่ค้าบางรายได้นำกระดาษมารองถาดตาชั่ง ให้เหตุผลเรื่องความสะอาดนั้น สามารถใช้รองได้ตามความจำเป็น อย่ารองมากเกินไปเพราะจะทำให้น้ำหนักของสินค้าได้ไม่ครบถ้วน


สำหรับการโกงเครื่องชั่งให้ได้น้ำหนักมากกว่าความเป็นจริงเป็นพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค มีโทษหนักต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท ส่วนกรณีไม่ปิดป้ายราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง